Review เที่ยวอิตาลี สวิส ฝรั่งเศส 9 วัน 8 คืน Part 3 : วีซ่าเชงเก้น (Schengen Visa)

ถึง…เธอ

       จากจดหมายฉบับที่แล้ว  Review เที่ยวอิตาลี สวิส ฝรั่งเศส 9 วัน 8 คืน Part 2 : ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ อิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ที่ผมเขียนมาเล่าถึงความรู้เบื้องต้นก่อนจะไปเที่ยวอิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ให้คุณอ่านแล้ว มาถึงจดหมายฉบับนี้ผมจะเขียนถึงสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องรู้และทำก่อนจะเดินทางท่องเที่ยวนั่นคือการขอวีซ่า

   ในจดหมายฉบับที่แล้ว ผมได้เกริ่นไปแล้วถึงสหภาพยุโรปซึ่งเป็นการรวมกลุ่มประเทศในยุโรป28 ประเทศ ที่มีการร่วมกันใช้กฎหมายและกฎระเบียบร่วมกันซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ VISA ที่ทุกประเทศจะใช้ร่วมกันโดยเรียกชื่อว่า วีซ่าเชงเก้น (Schengen Visa)ซึ่งเป็น VISA ที่ถ้าได้มาแล้วจะสามารถใช้ในการเดินทางเข้าทุกประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้

วีซ่าเชงเก้นคืออะไร

วีซ่าเชงเก้น คือ วีซ่าเข้าประเทศในระยะสั้นหรือชั่วคราว เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน หรือภายในเวลา 180 วัน โดยให้สิทธิ์ในการเดินทางเข้าทุกประเทศในเขตสหภาพยุโรปจำนวน 26 ประเทศ ประกอบด้วย เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม, สเปน, ไอซ์แลนด์,อิตาลี, ออสเตรีย, กรีซ,แลตเวีย, ลิกเตนสไตน์, ลิธัวเนีย,ลักเซมเบอร์ก, มอลตา, นอร์เวย์,โปรตุเกส, โปแลนด์, ฝรั่งเศส,สวีเดน, เยอรมัน, สโลวัก,สโลวีเนีย, ฟินแลนด์, สวิตเซอร์แลนด์,เดนมาร์ก, เชค, ฮังการี และ เอสโตเนีย  

นอกจากนี้วีซ่าเชงเก้งยังสามารถใช้เข้าประเทศที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงของสหภาพยุโรปได้อีกอาทิ โมนาโค (Monaco) ซานมารีโน (San Marino) วาติกัน (Vatican) และ โครเอเชีย (Croatia) ที่อนุญาตให้ผู้ถือเชงเก้นวีซ่าแบบ Double Entry หรือ Multiple Entry ที่ยังไม่หมดอายุ ก็สามารถเดินทางเข้าประเทศได้เช่นกัน

แม้ Visa Schengen จะสามารถใช้เข้าประเทศอะไรก็ได้ แต่การยื่นขอ VISA ไม่ใช่จะไปยื่นที่สถานทูตประเทศไหนก็ได้  การขอ VISAจะต้องทำการยื่นขอวีซ่าจากประเทศที่เป็นจุดหมายหลักซึ่งความหมายของประเทศจุดหมายหลักคือ

  1. ประเทศที่คุณจะไปพำนักอยู่นานที่สุด เช่นถ้าคุณจะเดินทางไปหลายๆประเทศ ประเทศไหนที่ไปอยู่นานที่สุดก็จะต้องไปยื่นขอVISA ที่สถานทูตประเทศนั้น 
  2. ถ้าคุณไปพำนักในแต่ละประเทศในเวลาที่เท่าๆ กัน ให้คุณไปยื่นขอวีซ่าจากสถานทูตประเทศที่คุณจะเดินทางเข้าไปเป็นประเทศแรก

ขั้นตอนเตรียมเอกสารทำวีซ่า

 แม้ VISA Schengen จะเป็น VISA ที่ใช้ร่วมกันกับทุกประเทศ แต่กฎระเบียบ ความยากง่าย และระยะเวลาในการอนุมัติของแต่ละสถานทูตจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าจะไปยื่นวีซ่าประเทศใดก็ต้องศึกษากฎระเบียบในการยื่น VISA ในแต่ละประเทศให้ดี เพราะแต่ละประเทศจะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แตกต่างกันออกไป ผู้ขอวีซ่าควรเข้าไปศึกษาจากเวปไซด์ของประเทศนั้นๆ ก่อน เพื่อความถูกต้องของข้อมูลและความเรียบร้อยในการเตรียมเอกสาร 

ประเภทวีซ่าเชงเก้น

วีซ่าเชงเก้นนั้นมีหลายประเภท อาทิ วีซ่าแวะเปลี่ยนเครื่อง (ประเภท A) วีซ่าประเทศทางผ่าน (ประเภท B) วีซ่าแบบพำนักระยะสั้น (ประเภท C) และวีซ่าที่เข้าได้เฉพาะประเทศ (ประเภท D) 

ทั้งนี้ถ้าคุณเป็นนักท่องเที่ยว คุณจะต้องทำวีซ่าแบบพำนักระยะสั้น (ประเภท C) เป็นหลัก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  1. ระยะเวลาพำนักในประเทศกลุ่มเชงเก้นรวมไม่เกิน 90 วัน ภายในช่วงเวลา 180 วันนับตั้งแต่เดินทางถึงกลุ่มประเทศเชงเก้น (หากคุณได้วีซ่าแบบMultiple Entry ก็หมายความว่าทุก ๆ 6 เดือน คุณจะอยู่ในยุโรปได้นานสูงสุด 3 เดือนเท่านั้น)
  2. จำนวนวันที่ได้รับในวีซ่ามีหลักๆ 3 แบบ คือ 
    • Single Entry ใช้เข้าออกได้ครั้งเดียว
    • Double Entry ใช้เข้าออกได้ 2 ครั้ง
    •  Multiple Entry ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งตามอายุของวีซ่า

ซึ่งจำนวนวันที่จะได้รับในแต่ละประเภทนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถานทูต โดยระยะเวลานานสุดจะเป็น VISA แบบ Multiple Entry ที่อาจได้อายุนาน 1 ปี ถึง 4 ปีเลย 

การยื่นคำร้องขอ VISA

  1. ก่อนทำการยื่นคำร้องขอวีซ่า คุณต้องมั่นใจแล้วว่า คุณเลือกประเทศที่ถูกต้องในการยื่นขอวีซ่าเชงเก้น เพราะการยื่นขอวีซ่าเชงเก้นผิดประเทศ สถานทูตก็มีสิทธิ์ปฏิเสธการออกวีซ่าให้คุณได้
  2. ช่องทางในการให้บริการยื่นVISA มีหลายช่องทางแล้วแต่ละสถานทูตดังนี้
    • ยื่นคำร้องขอวีซ่าเชงเก้นผ่านสถานทูตโดยตรง
    • ยื่นคำร้องผ่านศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าVFS Global
    • ยื่นคำร้องผ่านศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าTLS Contact
    • ยื่นคำร้องผ่านศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าBLS International
  3. การขอวีซ่าเชงเก้นทุกประเทศจะต้องมีการทำประกันภัยการเดินทางที่มีวงเงินประกันไม่น้อยกว่า 30,000 ยูโรหรือ 1,500,000 บาท และแต่ละประเทศยังมีการกำหนดบริษัทประกันภัยที่ได้รับการยอมรับด้วย ซึ่งคุณจำเป็นต้องตรวจสอบรายชื่อและใช้บริการกับบริษัทประกันภัยที่ได้รับการยอมรับเท่านั้น
  4. วีซ่าเชงเก้นสามารถยื่นคำร้องขอล่วงหน้าได้ไม่เกิน 90 วัน แต่ต้องไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนการเดินทาง
  5. ขั้นตอนในขอ VISA จะค่อนข้างคล้ายๆกัน ได้แก่ จองคิว > กรอกเอกสารและจัดเตรียมหลักฐาน > ยื่นเอกสารและเก็บข้อมูลชีวภาพ> เรียกสัมภาษณ์ (ถ้าสถานทูตต้องการ เป็นบางท่าน) >รอฟังผลการพิจารณา > รับหนังสือเดินทางคืนพร้อมผลการขอวีซ่า
  6. การขอ VISA Schengen คุณจะต้องเดินทางไปศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าหรือสถานทูตด้วยตนเอง และไม่สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปแทนได้ เนื่องจากต้องมีการเก็บข้อมูลทางชีวภาพ
  7. ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าหรือสถานทูตจะเก็บข้อมูลทางชีวภาพของคุณได้แก่ลายนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว และถ่ายภาพเต็มหน้าของคุณตามข้อกำหนดของวีซ่าเชงเก้น 
  8. ส่วนใหญ่การยื่นคำร้องกับศูนย์รับคำร้องขอวีซ่านั้นจะไม่มีการสัมภาษณ์ ทั้งนี้สถานทูตอาจจะเรียกสัมภาษณ์คุณในระหว่างการพิจารณาได้ถ้าหากมีข้อสงสัย (เท่าที่ผมได้ยินมา บางครั้งมีการโทรศัพท์มาสอบถามข้อมูลจากบุคคลที่เป็น reference ต่างๆ ที่คุณกรอกไว้ด้วย เช่น ฝ่ายบุคคลของบริษัทที่คุณทำงานอยู่) 
  9. โดยปกติแล้วคุณจะทราบผลภายใน 15 วันทำการนับตั้งแต่วันยื่นเอกสาร และคุณสามารถรับเอกสารและหนังสือเดินทางคืนหลังรับทราบผลแล้วได้

เอกสารการขอวีซ่าเชงเก้น 

  1. เอกสารคำร้องขอ – เอกสารที่คุณต้องพิมพ์หรือกรอกเรียบร้อยแล้ว
  2. หนังสือเดินทาง – ต้องเป็นหนังสือเดินทางฉบับล่าสุด มีอายุคงเหลือมากกว่า 3 เดือน มีหน้าว่างอย่างน้อย 2 หน้า กรณีที่มีหนังสือเดินทางเล่มก่อนหน้าให้นำไปด้วยทั้งหมด และถ่ายสำเนาหน้าแรกพร้อมกับหน้าที่เคยได้วีซ่า/เดินทางไปประเทศอื่นด้วย
  3. สำเนาบัตรประชาชน
  4. สำเนาทะเบียนบ้าน
  5. สำเนาอื่น ๆ ถ้ามี อาทิเช่น สำเนาทะเบียนสมรส สำเนาทะเบียนหย่า สำเนาใบเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล เป็นต้น (พร้อมเอกสารฉบับจริง)
  6. รูปถ่ายหน้าตรง – ต้องใช้รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 ใบ (ควรตรวจสอบเงื่อนไขของแต่ละสถานทูตอีกครั้ง)
  7. ประกันการเดินทาง –ต้องมีวงเงินประกันขั้นต่ำ 1,500,000 บาท (30,000 ยูโร) และต้องทำกับบริษัทประกันภัยที่สถานทูตให้การรับรอง
  8. ใบยืนยันการจองตั๋วเครื่องบิน
  9. ใบยืนยันการจองโรงแรมที่พัก ในเอกสารต้องระบุการเข้าพักในช่วงเวลาท่องเที่ยวที่ระบุไว้เท่านั้น
  10. ใบยืนยันการจองตั๋วรถไฟ/รถเช่า (ถ้ามี) 
  11. แผนการเดินทาง (วันที่ เวลา ต้องสอดคล้องกับตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พัก ตั๋วพาหนะต่างๆ) 
  12. เอกสารรับรองการทำงาน
    • กรณีเป็นพนักงาน: ต้องใช้หนังสือรับรองการทำงานเป็นภาษาอังกฤษ ระบุชื่อบริษัท ตำแหน่งงาน เงินเดือน วันเริ่มงาน และระบุจุดหมายปลายทาง ช่วงวันเดินทาง และวันที่จะกลับถึงประเทศไทยอย่างชัดเจน พร้อมลงนามและประทับตรา
    • กรณีเป็นเจ้าของกิจการ: สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนอายุไม่เกิน 3 เดือน พร้อมทะเบียนการค้า หรือใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ และเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องและมีชื่อของคุณเป็นเจ้าของกิจการ
  13. รายการเดินบัญชีเงินฝาก – สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากที่ปรับรายการย้อนหลังไม่ต่ำกว่า 6 เดือนถึงปัจจุบัน ควรมีเงินฝากที่เพียงพอต่อการท่องเที่ยวในระยะเวลาที่แจ้งได้อย่างไม่มีปัญหา หรือขอรายการเดินบัญชีที่ได้รับตราประทับจากธนาคาร
  14. สลิปเงินเดือน – กรณีมีรายได้ประจำ ให้แนบสลิปย้อนหลัง 6 เดือน โดยยอดเงินสุทธิในสลิปจะต้องสอดคล้องกับรายการเดินบัญชีเงินฝากด้วย
  15. กรณีไม่มีรายได้เป็นของตนเอง
    • หลักฐานแสดงรายได้ของคู่สมรส
    • หลักฐานแสดงรายได้ของญาติ พร้อมหนังสือรับรองความเป็นญาติ
    • สูติบัตรและทะเบียนบ้าน – กรณีผู้เดินทางเป็นเด็กที่มีอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ ต้องมีหลักฐานแสดงถึงความสัมพันธ์ของพ่อและแม่ที่ร่วมเดินทางไปด้วย โดยใช้สูติบัตรร่วมกับทะเบียนบ้านที่อ้างอิงถึงชื่อบิดามารดา
    • จดหมายยินยอมจากผู้ปกครอง – กรณีผู้เดินทางเป็นเด็กอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ และไม่ได้เดินทางพร้อมบิดามารดาร่วมกัน ผู้ปกครองที่เป็นบิดาหรือมารดาที่ไม่ได้ร่วมไปด้วยทั้งหมดต้องลงชื่อในจดหมายยินยอมที่ออกโดยที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต
    • เอกสารรับรองการศึกษา – กรณีเป็นนักเรียน/นักศึกษา ต้องใช้หนังสือรับรองจากสถานศึกษาที่สังกัดอยู่เป็นภาษาอังกฤษ
  16. หลักฐานอื่นๆ  ขอให้ดูรายละเอียดจากสถานทูต

เวลาที่ใครมาขอคำแนะนำในการขอ VISA ผมมักจะแนะนำเสมอให้ตรวจสอบกับเวบทางการของสถานทูตใหม่ทุกครั้งก่อนยื่นขอVISA เพราะกฎเกณฑ์ต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางอย่างเป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆแต่ก็ส่งผลต่อการอนุมัติ VISAเช่นกัน ดังนั้นผมจึงขอย้ำเรื่องนี้อีกครั้งนะครับว่า…สำคัญมากๆ

ค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าเชงเก้น

ค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าเชงเก้นในประเภทพำนักระยะสั้นสำหรับนักท่องเที่ยว ทุกประเทศคิดค่าธรรมเนียมเท่ากันคือ 60 ยูโร แต่ทั้งนี้ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าจะเรียกเก็บเป็นเงินบาทไทยซึ่งต้องชำระในวันนัดยื่นคำร้อง โดยอาจเรียกเก็บไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับค่าเงิน และมีค่าธรรมเนียมดำเนินการของศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าแยกต่างหากด้วย ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายรวมจะอยู่ที่ 2,500 – 3,500 บาทโดยประมาณ

สถานที่ยื่นขอวีซ่าเชงเก้น

สำหรับการยื่นขอวีซ่าเชงเก้นนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณต้องทราบว่าประเทศที่คุณจะขอยื่นนั้น ต้องยื่นวีซ่าผ่านช่องทางใด ผมแนะนำให้ดูจากสถานทูตดีที่สุดตามช่องต่างๆกันที่ผมเขียนไว้ด้านบนแล้ว โดยศูนย์ยื่น VISA หลักๆ มีดังนี้

ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า VFS Global

อาคารเดอะ เทรนดี้ ชั้น 28 ซอยสุขุมวิท 13 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110

เวลาทำการ: จันทร์ – ศุกร์ 08.30 – 16.30 น.

ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า TLS Contact

สาทรซิตี้ทาวเวอร์ ชั้นที่ 12 ถนนสาทรใต้ 175 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพ 10120

เวลาทำการ: จันทร์ – ศุกร์ 08:00 – 16:30 น. (พักทำการเวลา 12:30 – 13:30 น.)

ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่า BLS International

อาคารอินเตอร์เชนจ์ 21 ชั้น 22 ห้องเลขที่ 2211 เลขที่ 399 ถนนสุขุมวิท (อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110

เวลาทำการ: จันทร์ – ศุกร์ 08:30 – 16:00 น. (พักทำการเวลา 12:00 – 13:00 น.)

สำหรับผม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการขอ VISA คือการเตรียมตัวที่ดี ยิ่งคุณเตรียมตัวล่วงหน้าได้นานเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสผ่านเท่านั้น โดยเฉพาะคนที่มีตัวเลขในบัญชีไม่ค่อยสวยงาม (ซึ่งมักจะเป็นประเด็นสำคัญ)  เพราะอย่างน้อยเราจะสามารถเตรียมตัวและคอย monitorตัวเลขในบัญชีให้มีความน่าเชื่อถือล่วงหน้าเป็นระยะเวลาพอสมควร เพราะส่วนใหญ่จะเอาเงินก้อนจำนวนหนึ่งมาใส่ในบัญชีล่วงหน้าก่อนขอ VISAไม่นานซึ่งไม่มีความน่าเชื่อถือว่าทำไมอยู่ดีๆถึงมีเงินก้อนเข้ามา

รวมทั้งการเตรียมตัวอื่นๆ โดยเฉพาะแผนงาน เอกสารที่มีความน่าเชื่อถือว่าคุณมีแผนการท่องเที่ยวที่จริงจัง

ในกรณีการเดินทางที่ผ่านบริษัททัวร์ การยื่น VISA ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ง่ายขึ้นขึ้นอยู่กับประวัติและความน่าเชื่อถือของบริษัทด้วยนะครับ

หวังว่าข้อมูลเรื่องการขอ VISA ที่ผมเขียนมาเล่าจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมขอ VISAของคุณและหวังว่าคุณจะผ่านไปด้วยเรียบร้อย

ในจดหมายฉบับหน้า ผมจะเริ่มนำคุณเดินทางออกบินไปท่องเที่ยว อิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส กันแล้ว รออ่านกันนะครับ

อยากให้คุณไปอยู่ตรงนั้นด้วยกัน

รักและคิดถึง

Mgastronome

Fanpage : M Eat and Travel

One thought on “Review เที่ยวอิตาลี สวิส ฝรั่งเศส 9 วัน 8 คืน Part 3 : วีซ่าเชงเก้น (Schengen Visa)

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s